วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ไฟโตสเตอรอล กับโคเลสเตอรอล

ไฟโตสเตอรอล (Phytosterols) เป็นสารสเตอรอลที่พบในพืช มีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกับโคเลสเตอรอลมาก จึงช่วยยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอลในอาหารที่เรารับประทานเข้าไปไม่ให้เข้า สู่กระแสเลือดด้วยกลไกการเข้าไปแทนที่โคเลสเตอรอล ที่ตัวรับโคเลสเตอรอล (และตัวไฟโตสเตอรอลเองจะถูกดูดซึมได้น้อยมาก)  ทำให้โคเลสเตอรอลจากอาหารถูกดูดซึมน้อยลงและถูกขับออกมาพร้อมกับอุจจาระใน ที่สุด ดังนั้นการบริโภคไฟโตสเตอรอลจะช่วยทำให้ระดับโคเลสเตอรอลรวม และแอลดีแอล โคเลสเตอรอล (LDLCholesterol)  หรือโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ลดลง โดยที่ไม่ไปกระทบกับ เอชดีแอล โคเลสเตอรอล  (HDL Cholesterol)  หรือโคเลสเตอรอลชนิดดี เป็นผลให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง (อ้างอิงที่ 1)
สำหรับงานวิจัยที่สนับสนุนผลของไฟโตสเตอรอลในการลดโคเลสเตอรอลรวม และแอลดีแอลโคเลสเตอรอลนั้น มีหลายงานวิจัยสนับสนุน โดยในปีคศ.1999 นั้น มีงานวิจัยตีพิมพ์ว่า ได้มีการใช้ไฟโตสเตอรอลในการศึกษากับมนุษย์ 16 งานวิจัย รวม 590 คน พบว่า สามารถช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลรวมในเลือดลงได้เฉลี่ย 10% และลดระดับ แอลดีแอล โคเลสเตอรอลลงได้ 13% (อ้างอิงที่ 2) อีกงานวิจัยหนึ่งเป็นการกล่าวถึงว่า การได้รับไฟโตสเตอรอลในรูปเอสเทอร์ 2 กรัมต่อวัน สามารถช่วยลดระดับแอลดีแอล โคเลสเตอรอลลงได้ 10% (อ้างอิงที่ 3)
นอกจากนี้ คณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ยอมรับถึงเรื่องประโยชน์ของไฟโตสเตอรอล โดยได้มีประกาศเกี่ยวกับข้อกำหนดเรื่องการกล่าวอ้างทางสุขภาพของ สเตอรอลเอสเทอร์จากพืช (Plant Sterol Ester) กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ มีความตอนหนึ่งว่า มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า อาหารที่มี สเตอรอลเอสเทอร์จากพืช (Plant Sterol Ester) ช่วยในการลดระดับของโคเลสเตอรอลรวม และแอลดีแอลโคเลสเตอรอลได้ โดยข้อกำหนดนี้อนุญาตให้กล่าวอ้างบนฉลากอาหารประเภทที่มีโคเลสเตอรอลต่ำ หรือมีไขมันอิ่มตัวต่ำได้ว่าสเตอรอลเอสเทอร์จากพืช อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ ที่การรับประทานอย่างน้อย 1.3 กรัมต่อวัน ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด (อ้างอิงที่ 4)





โคเลสเตอรอล (Cholesterols) คือ สารประกอบไขมันชนิดหนึ่ง พบได้ในสัตว์ และมนุษย์ ร่างกายได้รับโคเลสเตอรอลจากการสังเคราะห์ของตับ และจากอาหารที่รับประทานเข้าไป โคเลสเตอรอลจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายโดยทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของผนัง เซลล์ในร่างกาย และยังเป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมนบางชนิดที่จำเป็นของร่างกาย และน้ำดี  โดยปกติแล้ว โมเลกุลของ โคเลสเตอรอล จะลอยในกระแสเลือดไม่ได้  เมื่อโคเลสเตอรอลเข้าไปอยู่ในกระแสเลือด จะต้องมีการจับตัวกับโปรตีน เรียกว่า ไลโปโปรตีน โดยเราสามารถแบ่ง ไลโปโปรตีน หรือ อาจจะเรียกง่ายๆว่า โคเลสเตอรอลในเลือดออกเป็น2 ประเภท ได้แก่
 1. แอลดีแอล โคเลสเตอรอล (LDL Cholesterol)
เปรียบเสมือน "ตัวผู้ร้าย" โดยแอลดีแอลที่มากเกิน จะเข้าไปแทรก และฝังตัวที่ผนังหลอดเลือด สะสมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน  และจะก่อให้เกิดเป็นพล๊าค (plaque) หรือตะกอน  ที่ผนังหลอดเลือดแดง  อันเป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดแดงตีบตัน ยิ่งระดับ LDL โคเลสเตอรอลสูงมากเท่าไหร่ อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

2. เอชดีแอล โคเลสเตอรอล (HDL Cholesterol)
เปรียบเสมือน "ตำรวจ" คอยจับผู้ร้าย เพราะ เอชดีแอล โคเลสเตอรอล จะทำหน้าที่เป็นตัวพาโคเลสเตอรอล  จากหลอดเลือดแดง กลับไปทำลายที่ตับ การมีระดับ HDL โคเลสเตอรอลสูง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease)
(อ้างอิงที่ 5-7)

การแบ่งระดับของโคเลสเตอรอล
อ้างอิงจาก ATP III Classification of LDL, Total, and HDL Cholesterol (mg/dL), ATP III Guidelines At-A-Glance Quick Desk Reference, National Cholesterol Education (อ้างอิงที่ 8)





โภชนาการเกิน เป็นปัญหาทางโภชนาการที่เกิดจากการบริโภคไขมันจากเนื้อสัตว์มากเกินความต้อง การของร่างกาย ทำให้เกิดโรคไขมันสูงในเลือด ภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเกิด โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะมีผลต่อการเกิดอัมพาตได้ กรดไขมันที่อิ่มตัว ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่จะเพิ่มปริมาณของโคเลสเตอรอลในเลือดให้สูงขึ้นได้ (อ้างอิงที่ 9) ดังนั้นพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคของคนเราจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ เกิดภาวะโคเลสเตอรอลสูง
สำหรับแนวทางในการควบคุมระดับโคเลสเตอรอล สามารถทำได้หลายวิธีคือ

            1. ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องใน อาหารทะเลบางชนิด อาหารประเภททอด น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง น้ำมันมะพร้าว กะทิ หันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพต่างๆ เช่น นมพร่องมันเนย และอาหารประเภทผักและผลไม้ต่างๆ หรือรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไฟโตสเตอรอลพร้อมกับมื้ออาหาร

            2. ออกกำลังกายควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร วิธีนี้จะช่วยเพิ่มระดับ HDL โคเลสเตอรอล และลดระดับ LDL โคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ควรออกกำลังกายอาทิตย์ละ 3 ครั้ง และทำอย่างต่อเนื่องในแต่ละครั้งตามระดับความสามารถของร่างกายตัวเอง

            3.ใช้ยาช่วยลดระดับไขมันในเลือด วิธีนี้ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง :
1.    Dietary phytosterols as cholesterol-lowering agents in humans. Can J Physiol Pharmacol. 1997 Mar;75(3):217-27
2.    Effects of dietary phytosterols on cholesterol metabolism and atherosclerosis: clinical and experimental evidence. Am J Med. 1999 Dec;107(6):588-94
3.    Phytosterols in human nutrition. Annu Rev Nutr. 2002;22:533-49. Epub 2002 Apr 4
4.    Sec. 101.83 - Health claims: plant sterol/stanol esters and risk of coronary heart disease (CHD), Subpart E--Specific Requirements for Health Claims, TITLE 21--FOOD AND DRUGS: CHAPTER I--FOOD AND DRUG ADMINISTRATION DEPARTMENT OF HEALTH AND HUMAN SERVICES; SUBCHAPTER B--FOOD FOR HUMAN CONSUMPTION  PART 101 FOOD LABELING, Code of Federal Regulations Title 21, Volume 2, U.S. Food and Drug Administration 
http://www.accessdata.fda.gov/scripts/cdrh/cfdocs/cfcfr/CFRSearch.cfm?fr=101.83
5.    Cholesterol, Triglycerides, and Associated Lipoproteins. Bookshelf ID: NBK351 PMID: 21250192
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK351/
6.    About Cholesterol. American Heart Association.
http://www.heart.org/HEARTORG/Conditions/Cholesterol/AboutCholesterol/About-Cholesterol_UCM_001220_Article.jsp
7.    Why Cholesterol Matter. American Heart Association.
http://www.heart.org/HEARTORG/Conditions/Cholesterol/WhyCholesterolMatters/Why-Cholesterol-Matters_UCM_001212_Article.jsp
8.    ATP III Classification of LDL, Total, and HDL Cholesterol (mg/dL), ATP III Guidelines At-A-Glance
Quick Desk Reference, National Cholesterol Education, 
http://www.nhlbi.nih.gov/guidelines/cholesterol/atglance.pdf
9.    โภชนาการสาร 2532;23;202-12 กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
http://nutrition.anamai.moph.go.th/newpage8.htm
ข้อมูลจาก http://www.giffarinethailand.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น